วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

Four Waves of Feminism: คลื่นทั้งสี่ลูกของสตรีนิยม

ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี สามารถแบ่งพัฒนาการออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้...


1. คลื่นลูกแรก: ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 
เป็นการเรียกร้องเพื่ออิสระจากการควบคุม เรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆ ต่อสู้เพื่อพื้นที่ในโลกสาธารณะของผู้หญิง บทบาททางด้านการเมือง เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (Suffrage หรือ The right to vote) ของผู้หญิงอังกฤษและอเมริกันในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 ดำเนินการโดยกลุ่มสตรีชนชั้นกลางผิวขาวเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ ซึ่งประสบความสำเร็จทำให้ได้มาซึ่งสิทธิทางกฎหมายของสตรี


2. คลื่นลูกที่สอง: ช่วงปี 1960s ต่อเนื่องมาจนถึง 1990s
เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไม่นาน คลื่นระลอกนี้เรียกร้องเกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียม การแก้กฎหมาย ความเสมอภาคของสิทธิด้านต่างๆ ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย มีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "การปลดปล่อยสตรี" (Women’s Liberation Movement) มีสาระสำคัญว่าการพิจารณาประเด็นปัญหาใดๆ ที่เกี่ยวกับสตรีจะต้องเลิกกระทำภายใต้กรอบความคิดเดิมที่ถือผู้ชายเป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแนวคิดสายต่างๆ เกิดแนวคิดสตรีนิยมสายเสรีนิยม สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ สตรีนิยมสายสังคมนิยม สตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน สตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์ เพื่ออธิบายสาเหตุของความเป็นรองของผู้หญิงรวมทั้งแนวทางกำจัดความเป็นรองที่เกิดขึ้นในสังคม นอกจากนี้สำนักคิดดังกล่าวยังให้ความสำคัญหรือยอมรับในการทำความเข้าใจต่อปัญหาผู้หญิงตามแนววิทยาศาสตร์ด้วย

ขบวนการเคลื่อนไหวในระลอกที่สองนี้เน้นให้ผู้หญิงหันมาทำความเข้าใจกับสถานะของตนอย่างถ่องแท้ จากการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในตัวตนของชนกลุ่มน้อยทั่วโลก เช่น เชื้อชาติ ชนชั้น สีผิว เพศสภาวะ ผ่านการมองโครงสร้างทางอำนาจในสังคมทั้งในส่วนที่เป็นทางการและส่วนที่ไม่เป็นทางการ (พื้นที่ส่วนตัว) โดยกล่าวว่า “เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องการเมือง” (“The personal is the political”) คลื่นลูกที่สองเน้นเรื่องการต่อสู้เพื่อให้สิ้นสุดการกีดกันทางเพศ และการกดขี่ทางเพศในทางปฏิบัติ


3. คลื่นลูกที่สาม: ช่วงปี 1990s เป็นต้นมา (Post-Feminism)
ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเป็นอย่างมาก เกิดจากการผลัดรุ่นของสตรีนิยมในตะวันตก เนื่องจากผู้หญิงรุ่นใหม่เริ่มเห็นด้วยน้อยลงกับแนวคิดสตรีนิยมรุ่นเก่าๆ เกิดการตั้งคำถามต่อข้อเสนอของแนวคิดที่สตรีนิยมสายต่างๆ อันเป็นผลผลิตของยุคที่ผ่านมา ซึ่งยังติดอยู่กับความเป็นสากล ระบบความคิดแบบคู่ตรงข้าม
"มีการมองเพศอย่างหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นต่อเพศทางชีววิทยาอย่างเดียว มี LGBTQI ต่อมาก็มีการเน้นถึงเรื่องเพศสภาวะ (Sexuality) ที่หลากหลายของคน ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเพศสภาพ (Gender) เท่านั้น รวมถึงมีเริ่มมีการถามท้าถึงแนวคิดเรื่องเพศกายภาพหรือเพศทางชีววิทยาอีกด้วย จนเดี๋ยวนี้ข้อถกเถียงมาไกลขนาดดึงเอาแนวคิดหลังมนุษยนิยม (Posthumanism) เข้ามาเพื่ออธิบายว่าร่างกายมนุษย์ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป และเราควรจะมองเรื่องเพศแบบ ‘ไร้เพศสภาพ’ (Genderless) ได้แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องของเจตจำนงเท่านั้น และหากเรายังมองเพศแบบมี Gender อยู่ (แม้จะแบ่งเป็นเกือบ 30 แบบแล้วก็ตามที) เราก็ยังไม่อาจหลีกหนีจากกับดักเรื่องเพศและแนวคิดแบบมีลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phallocentric) ได้อยู่ดี"
โควตมาจากบทความ นม อำนาจรัฐ และสตรีนิยม
(จริงๆ ข้อมูลส่วนนี้มันมีรายละเอียดยิบย่อยอีกเยอะมากๆ เลยอ่ะแกรร ฮือๆ ถ้าสนใจไปอ่านต่อเองได้ไหม T^T)


4. คลื่นลูกที่สี่: NOW!
คลื่นลูกใหม่ล่าสุดนี้เป็นความเคลื่อนไหวบนเครือข่ายโลกออนไลน์ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากกลุ่ม Gen Y ด้วยช่องทางดิจิทัล มีตัวแทนคลื่นลูกใหม่นี้โดย Emma Watson ทูตสันถวไมตรีของ UN Women ที่มาพร้อมกับแฮชแท็ก #HeforShe ซึ่งเป็นแคมเปญโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติเพื่อรณรงค์ให้กลุ่มผู้ชายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมกัน คลื่นลูกที่สี่นี้ใช้สาระเดิมในบริบทโลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีในการสร้างความสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Tumblr, Facebook, Twitter, Blog และการใช้ hashtag



"Men, I would like to take this opportunity to extend your formal invitation. 
Gender equality is your issue too."

—Emma Watson



_________________________________
อ้างอิง:


อ่านเพิ่มเติม:

ป.ล. ตอนแรกว่าจะทำแค่เรื่องผู้หญิงที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์สมัยก่อน แต่ไปพรีเซ้นหัวข้อมาเมื่อวานแล้วอาจารย์บอกอยากให้ก้าวข้ามประเด็น Feminism ไปสู่เรื่อง Non-Gender แทน ให้มันร่วมสมัยหน่อย (สรุปได้ทำเพิ่มเป็น 2 เรื่องขนานกันไป... สำหรับ Recital Project ก็อันนึง สำหรับ Creative Research Project ก็อันนึงค่าาาา แอร๊ยยยย์ จิแยกร่างงงง >0<"/)

ป.ล.2 เมื่อนึกได้ดังนี้แล้วก็คิดว่าทำไมไม่ลงแยกในอีกบล็อกวะ แต่ไม่ทันแล้ววว... ขก. = =;

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น